1. การผลิตสับปะรดที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและปลอดศัตรูพืช
เน้นให้เกษตรกรมีความรู้และมีทักษะจะสามารถผลิตสับปะรดที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ค้าและผู้บริโภค โดย
1.1 ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสับปะรด โดยใช้ศัตรูธรรมชาติ
- ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูสับปะรดที่สำคัญ และพบทั่วไปในไร่สับปะรดมีเพียงชนิดเดียว คือ ด้วงเต่า ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 4.0 – 4.5 มิลลิเมตร ลำตัวด้านบนนูนโค้งสีดำ ด้านล่างแบนราบคล้ายเพลี้ยแป้ง ตัวหนอนและตัวเต็มวัยของด้วงเต่าเป็นตัวห้ำ กัดกินเพลี้ยแป้งแมลงศัตรูสำคัญของสับปะรด ดังนั้น การป้องกันกำจัดศัตรูสับปะรด ควรใช้วิธีการที่ปลอดภัยตามคำแนะนำ เพื่ออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ดังกล่าว
1.2 ป้องกันการตกค้างของไนเตรทในผลสับปะรด โดยดำเนินการดังนี้
- ให้ปุ๋ยและให้น้ำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหลังการบังคับดอกแล้ว
- ห้ามทำลายจุกสับปะรด
- ในแหล่งที่เคยพบปริมาณไนเตรทตกค้างสูงในผลสับปะรด ควรเก็บตัวอย่างใบในระยะบังคับดอก วิเคราะห์ปริมาณธาตุโมลิบดินัม ถ้าพบความเข้าข้นของธาตุต่ำกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน ให้พ่นใบสับปะรดด้วยธาตุโมลิบดินัม อัตรา 5 มิลลิกรัมต่อต้นในระยะดอกแดง หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 8 กรัมต่อต้น หลังการบังคับดอกแล้ว 75 วัน
1.3 ต้องใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และไม่ใช้สารเคมีที่ห้ามใช้ หรือยกเลิกการใช้ทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
1.4 ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม มีข้อแนะนำควรปฏิบัติ ดังนี้
• ตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันสารพิษปนเปื้อนเสื้อผ้า และร่างกายของผู้พ่น
• ต้องสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากาก หรือผ้าปิดจมูกถุงมือ หมวก และรองเท้า เพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
• อ่านฉลากคำแนะนำ คุณสมบัติ และการใช้ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
• ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติ ผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
• เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
• ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้ เก็บไว้ในที่มิดชิดห่างจากสถานที่ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และต้องปิดกุญแจโรงเก็บทุกครั้ง
• ภายหลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูทุกครั้งผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
• ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย โดยดูจากตารางคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือฉลากที่ภาชนะบรรจุ
• เมื่อใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหมดแล้ว ให้ล้างขวดบรรจุสารด้วยน้ำ 2 – 3 ครั้ง เทน้ำลงในถังพ่นสาร ปรับปริมาตรน้ำตามความต้องการก่อนนำไปใช้พ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำหรับภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้ว คือ ขวด กล่องกระดาษ และถุงพลาสติก ให้ทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาไฟ และห้ามนำกลับมาใช้อีก
1.5 จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง เกษตรกรควรบันทึกการปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตต่างๆ ให้มีการตรวจสอบได้ หากเกิดข้อบกพร่องขึ้น สามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที ได้แก่
• สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณฝน
• พันธุ์สับปะรด วันที่ปลูก ขนาดของหน่อ หรือจุกที่ใช้ปลูก อัตราการปลูก
• วันที่ให้ปุ๋ย ให้น้ำ
• การระบาดของศัตรูพืช ชนิดและปริมาณ
• วันที่พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ชนิด อัตราและวิธีการใช้ แหล่งที่มาของสารเคมี
• วันที่สับปะรดออกดอก และเก็บเกี่ยวผลผลิต
• ปริมาณไนเตรท การเกิดผลแกน จำนวนผลแกน
• ค่าใช้จ่าย ปริมาณและคุณภาพผลผลิต และรายได้
• ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ตลอดฤดูปลูก การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง
ที่มา : http://www.ecitepage.com/viewtopic.php?f=18&t=65055
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น